การย้ายบ้านบ่อย ในช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นตอนต้น อาจส่งผลต่อการเป็นซึมเศร้าตอนโต

เวลาพูดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ปัจจัยหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงก็คือเรื่องของประสบการณ์ในวัยเด็กกับสิ่งที่พบเจอในช่วงระหว่างการเติบโต
งานวิจัยชิ้นล่าสุดในเดนมาร์กซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ผ่านวารสาร JAMA Psychiatry พบความเป็นไปได้ใหม่ว่า ปัจจัยที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อนอย่าง ‘การย้ายบ้านบ่อยๆ’ ในช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นตอนต้น อาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อโตขึ้นได้เหมือนกัน ดร.ไคลฟ์ เซเบิล (Clive Sabel) นักภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัย Plymouth ผู้ศึกษาผลกระทบจากสภาพแวดล้อมกับภาวะการเกิดโรคต่างๆ และผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า การย้ายบ้านหรือที่อยู่อาศัยในวัยเด็กบ่อยๆเป็นเรื่องใหญ่กว่าการอยู่หรือเติบโตมาในย่านที่มีความข้นแค้นทางเศรษฐกิจสูงๆ ในงานวิจัยชี้ว่า การย้ายบ้านมากกว่าหนึ่งครั้งระหว่างช่วงอายุ 10-15 ปี ของคนที่เกิดระหว่างปี 1982-2003 มากกว่าหนึ่งล้านคน
หรือประมาณ 2.3% มีความเสี่ยงมากถึง 61% ที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
เหตุผลที่น่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือการย้ายที่อยู่อาศัยในวัยเด็กบ่อยๆ จะส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กๆ คล้ายกับเป็นการบังคับกลายๆ ให้ต้องเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนทั้งในละแวกบ้าน ในชุมชน เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่เล่นกีฬาด้วยกัน หรือสังคมที่พบเจอกันในกลุ่มทางศาสนา
วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นตอนต้น เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย นักภูมิศาสตร์สังคมถึงกับใช้คำว่า ‘Vulnerable Age’ หรือวัยแห่งความเจ็บปวดเลยทีเดียว เพราะนอกจากต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายในของตัวเองทั้ง Physical และ Mental แล้ว พวกเขายังต้องรับมือกับสัมคมที่เปลี่ยนแปลงด้วย และการย้ายบ้านก็เป็นการเปลี่ยนสังคมที่เคยรู้จัก ไหนจะต้องปรับตัวให้ได้อีก ซึ่งภาวะความกดดันเหล่านี้อาจนำมาสู่ความรู้สึกหนักหนาได้ไม่เบาเอาเสียเลย และตัวเลขนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่าภาวะกดดันจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้นั้นสร้างผลกระทบได้มากมายอย่างไรต่อทั้งสภาวะทางสังคม และสภาวะทางจิตใจของพวกเขา
นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยหนึ่งยังชี้ด้วยว่าการย้ายบ้านในวัยเด็กจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะกับชาว ‘Introvert’ ซึ่งมักจะพบว่าส่งผลต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตไม่ค่อยดีนัก มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ และยังมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายจากภาวะเหล่านี้อีกด้วย
นักภูมิศาสตร์สังคมมองว่า การที่เด็กๆ รวมถึงวัยรุ่นตอนต้นได้มีช่วงเวลาอยู่ ‘บ้าน’ ที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้านจริงๆ และมีสังคมของพวกเขาเองเป็นเรื่องสำคัญมาก การย้ายที่อยู่อาศัยแต่ละครั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดให้ดีๆ ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อเด็กๆ มากน้อยอย่างไรหรือเปล่า
แหล่งอ้างอิง : เทคนิคการแพ็กของและ ขนของย้ายคอนโด ไปบ้าน | The MOVE