ธุรกิจเชื้อเพลิงขยะยังคงเติบโต แรงหนุนพลังงานจากขยะของภาครัฐ เพื่อจัดการปัญหาขยะ และการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทน

ขยะมูลฝอย
ในปี 2568 คาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเติบโต 0.3% แตะ 27.8 ล้านตัน ชะลอตัวจากที่ขยายตัว 2.9% ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีขยะมูลฝอยที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้กว่า 2.5 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาขยะ หนึ่งในนโยบายหลักคือการนำขยะไปผลิตพลังงาน แม้ประชากรไทยลดลงตั้งแต่ปี 2562 แต่พฤติกรรมการบริโภค เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ยังคงทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น การเติบโตนี้แสดงถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการนำขยะไปผลิตพลังงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะคงค้าง แต่ยังนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตพลังงานอีกด้วย ในปี 2566 จำนวนขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องนั้นอยู่ที่ 37.7% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด เพิ่มขึ้นราว 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 การปรับปรุงนี้ ส่งผลให้มีจำนวนขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ขยะมูลฝอยที่เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็น RDF จริงนั้นก็เพิ่มขึ้นจาก 18.5% ในปี 2558 เป็น 42.9% ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 44.4% ในปีนี้ และ 47.0% ในปี 2568

เชื้อเพลิงขยะสำหรับผลิตไฟฟ้า
ความต้องการ RDF สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมของภาครัฐที่มีการตั้งอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะสูงกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ มีจำนวนโรงไฟฟ้าที่รอจ่ายไฟเข้าระบบ ในปี 2568 รวม 31.5 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าความต้องการ RDF จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 65,000 ตันในปีหน้า ปัจจุบัน กกพ. ยังไม่มีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม แต่ได้มีการเตรียมการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ RDF จากขยะอุตสาหกรรมที่ผลิตในโรงงาน จึงไม่ส่งผลต่อความต้องการ RDF จากขยะชุมชน หากรัฐบาลต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ยังจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 752.7 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการ RDF มีมากถึง 1.3 ล้านตันในอนาคต
เชื้อเพลิงขยะสำหรับผลิตความร้อนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต
ในปี 2568 คาดว่า 39% ของปริมาณ RDF จะถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและการลดการพึ่งพาถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ กำลังผลักดันให้ความต้องการ RDF เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างปี 2558-2567 การใช้พลังงานความร้อนจากขยะในอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อปี ขณะที่การใช้ถ่านหินลดลงเฉลี่ย 5.3% ต่อปี แม้ต้นทุนการใช้ RDF จะสูงกว่าถ่านหิน แต่ด้วยมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เก็บค่าธรรมเนียมสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ เช่น ปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน คาดว่าในปี 2568 การใช้ RDF จะเพิ่มขึ้นราว 5,000 ตัน ทดแทนถ่านหินได้ประมาณ 2,100 ตัน โดยการลดการใช้ถ่านหิน 1 ตัน ต้องใช้ RDF ประมาณ 2.35 ตัน
โดยสรุป มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF ในปี 2568 คาดว่า จะเติบโตราว 6.3% จากปี 2567 แตะ 1.8 พันล้านบาท